บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

อ่านตรงนี้ก่อน


การถูก “เจ้าหน้าที่” ตรวจความถูกต้องของการพิมพ์งานวิชาการของเรานั้น เป็นเรื่องที่หลายๆ คน “หงุดหงิด” เป็นอย่างมาก  บางคนเมื่อผ่านการตรวจไปแล้ว ก็ไม่ยอมพูดจากับเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอีกเลย

ขอยกตัวอย่างการตรวจสอบการพิมพ์วิทยานิพนธ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เจ้าหน้าที่ของบัณฑิตวิทยาลัย ค่อนข้างจะ “โหด” พิลึก  ตอนที่เรียนปริญญาโทภาษาศาสตร์ เพื่อนคนหนึ่งในชั้นจากจำนวน 4 คน ทำวิทยานิพนธ์เสร็จก่อนคนอื่น  จึงส่งตรวจก่อน

ตามระเบียบของวิทยานิพนธ์นั้น  เลขหน้าของแต่ละหน้าต้องห่างจากขอบกระดาษ 1 นิ้ว ร้านที่เย็บเล่มวิทยานิพนธ์ตัดขอบกระดาษลึกเกินไป ไม่ถึง 1 นิ้ว 

เจ้าหน้าที่เกือบจะให้ไปทำใหม่ทั้งหมด  ดีที่ว่า มันขาดไปไม่มากนัก  เจ้าหน้าที่จึงให้ผ่านไปได้

การวัดนั้น เจ้าหน้าที่เอาไม้บรรทัดมาวัดกันจริงๆ จังๆ  วัดกันต่อหน้านั่นแหละ....

ก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาที่จะต้องแก้การเขียนอ้างอิง การเขียนเชิงอรรถ ฯลฯ  นักศึกษาทุกคนต่างหงุดหงิดว่า  “เราทำวิทยานิพนธ์ มันก็ยากอยู่แล้ว  ทำไมจะต้องมาจับผิดเรื่องการพิมพ์ด้วย”

ถึงแม้จะหงุดหงิดอย่างไรเราก็ต้องทำตามคำแนะนำแบบขู่ๆ ของเจ้าหน้าที่ทั้งหลายเหล่านั้น

บางท่านเล่าให้ผมฟังว่า “คนหนึ่งไม่จบปริญญาโทเพราะทำเล่มวิทยานิพนธ์ไม่เสร็จ” 

ท่านขยายความเพื่อให้เห็นภาพพจน์อีกว่า “คนดังกล่าวนั้น ถึงกับขนคอมพิวเตอร์มาตั้งที่บัณฑิตวิทยาลัยเลย แต่ก็ไม่ผ่าน เพราะทำเล่มไม่เสร็จ”  เรียกว่า มากินมานอนที่บันฑิตวิทยาลัยเพื่อทำเล่มวิทยานิพนธ์กันเลยทีเดียว

เมื่อได้ฟังเรื่องดังกล่าวแล้ว  เราก็ต้องยอมรับชะตากรรม กลับไปแก้วิทยานิพนธ์ของเราต่อไป ก็ “เสือก” อยากจบปริญญาโทกันเอง

ถ้ามีความพอใจแค่ปริญญาตรี ก็ไม่ต้องมาพบกับปัญหาเหล่านี้

ที่เล่าๆ มานั้น  เป็นปัญหาของคนอื่นๆ  ผมเองค่อนข้างจะเตรียมตัวมาดีในการพิมพ์วิทยานิพนธ์ 

ผมพิมพ์สัมผัสเป็นตั้งแต่เป็นครูบ้านนอก  จำได้ว่าโรงเรียนได้พิมพ์ดีดมาใหม่  น้องสาวผมเรียนบัญชี  มีหนังสือสอนพิมพ์ดีดอยู่

ผมเอาหนังสือของน้องสาวมาเปิด แล้วก็หัดพิมพ์  ผมจึงพิมพ์สัมผัสเป็นอย่างเรียนเอง คือ คนพิมพ์เก่งเข้าไม่ดูหน้าจอ  แต่ผมต้องดูงานที่จะพิมพ์ไปด้วย  ดูหน้าจอไปด้วย  สลับกันไปมา

ผมอ่านระเบียบการพิมพ์ค่อนข้างละเอียด  ตอนจบปริญญาเอกที่ธรรมศาสตร์  เจ้าหน้าที่บัณฑิต วิทยาลัยยังบอกกับผมว่า ตั้งแต่ตรวจรูปเล่มมา ตรวจของผมง่ายสุด

นี่ขนาดดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกของผม หน้าเกือบ 800 หน้า  ถ้าอาจารย์ที่ปรึกษาไม่ “ด่า” ให้ลดหน้ากระดาษลงบ้าง   ผมกะว่าจะเขียนสัก 1,000 หน้า

จากปัญหาที่พบมาทั้งหมด  บันทึกในบล็อกนี้ จึงจะอุทิศให้การพิมพ์งานวิชาการด้วยโปรแกรม Microsoft Word, Microsoft Publisher และ InDesign CS5

โปรดติดตาม........

*******************************

Dr. Manas Komoltha  (Ph.D. Integrated Sciences)
Faculty of Sciences and Liberal Arts
Rajamangala University of Technology Isan